ในหลวง ร.9 : “ตุลาการหมายเลข 1” กับ “แสง”แห่ง วิกฤต รธน. 2549

คำบรรยายวิดีโอ, จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เล่าถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวง ร.9 ที่ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านศาลครั้งแรก นำประเทศออกจากวิกฤตการเมืองปี 2549
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สถาบันตุลาการคือ 1 ใน 3 เสาหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จากปากคำของตุลาการผู้อยู่ในเหตุการณ์ เล่าถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านศาล เพียงครั้งแรกและครั้งเดียวเพื่อแก้วิกฤตทางการเมืองปี 2549

"ถ้าสงสัยว่าท่านทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเดือดร้อน ที่เดือดร้อนเพราะเมื่อปฏิบัติอะไรในพระปรมาภิไธย พูดง่าย ๆ ในนามของพระเจ้าอยู่หัว ถ้าทำอะไรที่มิดีมิชอบ พระเจ้าอยู่หัวก็เป็นคนที่ทำมิดีมิชอบ.."

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือข้อเตือนใจที่ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จดจำขึ้นใจตลอดเวลา 37 ปีของการปฏิบัติหน้าที่ "ศาลในพระปรมาภิไธย"

ศาลปกครอง

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

เขาเริ่มรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา หลังผ่านการฝึกปรือกับผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งจรัญเรียกว่า "ท่านติวเตอร์" จนแน่ใจว่าทำหน้าที่ได้ ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาเต็มตัวในปี 2523

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้พิพากษาเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ว่าหลังถวายสัตย์ฯ พระองค์จะพระราชทานพระบรมราโชวาท เพื่อแนะนำ ตักเตือน สั่งสอน หรือเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติ

"กระแสรับสั่งที่ต้องมีทุกวาระก็คือขอให้ถือความยุติธรรมเป็นสำคัญ กฎหมายไม่ใช่จุดหมายปลายทางในตัวเองเสมอไป แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะพาท่านทั้งหลายไปส่งมอบความยุติธรรมให้แก่สังคม แก่ประชาชน" จรัญกล่าวกับบีบีซีไทย

นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีสอนในโรงเรียนกฎหมายอย่างชัดเจน แต่เป็นคำสอนของพระองค์ที่ชี้ให้เห็นว่า "ความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย"

"เราถือกันว่าพระองค์ท่านเป็น 'ตุลาการหมายเลข 1' นี่เป็นคำพูดแบบสื่อความหมายที่เข้าใจในหมู่พวกเรา"

ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ระบุว่า พระอัจฉริยภาพของ ร.9 ที่ปรากฏแก่สายตาประชาชนชัดเจนคือเหตุการณ์ 25 เม.ย. 2549

เบื้องหลัง "เสด็จเหยียบศาล" กับตำนานในวงการตุลาการ

ประเพณีปฏิบัติของศาลยุติธรรมที่ทำกันมา 130 ปี เมื่อจะเปิดศาล ต้องกราบบังคมทูลเชิญพระบาทพระมหากษัตริย์ "เสด็จเหยียบศาล" และเป็นองค์ประธานในการพิจารณาพิพากษาคดีที่ศาลนั้นเป็นคดีแรกเพื่อความเป็นสิริมงคล

จรัญบอกว่าในทางปฏิบัติมักเลือกคดีง่าย ๆ ไม่มีปัญหาข้อกฎหมายซับซ้อน เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ แม้ราษฎรทำผิดจริง แต่เมื่อเป็นความผิดไม่รุนแรง และคนทำก็รับสารภาพแล้ว ไม่เคยกระทำผิดอื่นใดมาก่อน ก็มีเหตุที่จะมีพระมหากรุณาธิคุณรอการลงโทษจำคุกให้ เพื่อให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี

แต่แล้วก็มีเหตุให้ศาลต้องทบทวน-เพิ่มความระมัดระวัง เพราะไม่ใช่ทุกคดีที่สามารถออกคำพิพากษาตาม "แบบแผน" ได้

องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นนั่งบัลลังก์ ก่อนอ่านคำพิพากษายึดทรัพย์นายทักษิณ ชินวัตร เป็นเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท วันที่ 26 ก.พ. 2553

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 20-30 ปีก่อน ไม่มีบันทึกเอาไว้ในศาลใด แต่เป็นตำนานเล่าขานภายในแวดวงตุลาการ จรัญนำมาถ่ายทอด..

เมื่อครั้งเสด็จเหยียบศาลแห่งหนึ่งในภาคเหนือ และทรงเป็นประธานองค์คณะพิพากษาคดีบุกรุกที่ดินของผู้เสียหาย จำเลยสารภาพต่อศาลตามฟ้อง แต่ทำไปด้วยนึกว่าที่ดินพิพาทยังอยู่ในเขตที่ดินของตน ศาลก็ทำตามแบบแผนซึ่งเตรียมไว้แล้วว่าจำเลยรับสารภาพตามฟ้อง ก็ฟังว่าผิดจริง แต่ไม่เคยทำผิดมาก่อน และเป็นความผิดเล็กน้อย จำเลยรับสารภาพสำนึกผิด ควรรอการลงโทษจำคุกเอาไว้เพื่อให้จำเลยกลับตัวเป็นคนดี

"เมื่อทำคำพิพากษาขึ้นกราบบังคมทูลฯ ก็มีกระแสรับสั่งว่า 'การที่ล้ำเข้าไปในที่ดินคนอื่นโดยเข้าใจว่าอยู่ในเขตที่ดินของตัว เป็นความผิดฐานบุกรุกด้วยหรือ' ก็เป็นที่เข้าใจได้เลยว่าพระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องนี้ ในทางกฎหมายถ้าจำเลยให้การอย่างนี้ไม่ถือเป็นการรับสารภาพ แต่เป็นการภาคเสธ คือล้ำไปในที่เขาจริง แต่ไม่มีเจตนาบุกรุก จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด เรื่องนี้จะออกคำพิพากษาแบบที่วางไว้ไม่ได้" จรัญกล่าว

ถือเป็นพระบรมราชวินิจฉัยที่ลึกซึ้งกว่าตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เพ่งพินิจถึง "ธรรมะของกฎหมาย"

กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในปี 2548-2549

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในปี 2548-2549 โดยประกาศ "เราจะสู้เพื่อในหลวง" นอกจากนี้แกนนำบางคนยังเสนอขอ "นายกฯ พระราชทาน" ด้วย

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านศาล

นอกจากทรงประสิทธิประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยกฎหมายเฉพาะบท-เฉพาะกาล ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงเป็นแสงสว่างนำประเทศออกจากวิกฤต เมื่อคนในวังวนแห่งความขัดแย้งมองไม่เห็นทางออก

จาก "วิกฤตการเมือง" ที่ค่อย ๆ ก่อตัว ยกระดับเป็น "วิกฤตรัฐธรรมนูญ" ปี 2549 บางฝ่ายทูลเกล้าฯ ขอ "นายกฯ พระราชทาน" ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ โดยอ้างประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วการรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ หลังผ่าน "วันมหาวิปโยค" ต.ค. 2516 แต่พระองค์ไม่ทรงทำ

ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านตุลาการเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติ จึงนำไปสู่การปลดล็อคเงื่อนไขทางการเมืองในที่สุด

"ในครั้งนั้นหลักการใหม่มันเกิดขึ้น เมื่อฝ่ายบริหารไม่มี ฝ่ายนิติบัญญัติแท้จริงยังไม่มี วุฒิสภาก็ทำหน้าที่อะไรไม่ได้ในเรื่องนี้ และเกิดปัญหาที่ไปรบเร้าให้พระองค์ท่านต้องเข้ามา ถ้าพระองค์ท่านทำตามคำขอ ก็จะกลายเป็นว่าเข้ามาแทรกแซงก้าวก่ายทางการเมือง ก็ผิดหลัก นี่ล่ะพระอัจฉริยภาพที่ทรงชี้ว่ายังมีช่องทางอยู่นะ ให้ไปคิดกัน ไปหาทางออกกันให้ถูกต้อง ถ้าทำไม่ได้ก็ลาออกไป นี่จึงคล้ายๆ ตกอยู่ในภาวะต้องมาหาทาง"

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม

ขณะนั้นจรัญดำรงตำแหน่งเลขาธิการประธานศาลฎีกา ทำหน้าที่เป็นผู้นำสารจากที่ประชุมประธาน 3 ศาล ประกอบด้วย ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองของประเทศ ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาสื่อสารต่อประชาชน

โดยส่งสัญญาณให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดที่สังคมไม่เชื่อมั่นในความเป็นกลาง ซึ่งเหลืออยู่ 4 คนลาออกเพื่อให้ตำแหน่งว่างลง และเปิดทางให้ศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดส่งคนกลางเข้าไปเป็น "กกต.เฉพาะกาล"

"ทางออกนี้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่มีเงื่อนไขว่า กกต. ต้องถอนตัวออกไป เปิดช่องทางให้เดินได้"

ประธาน 3 ศาล

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา (ตรงกลาง) นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด (ด้านขวา) และนายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหน้าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (ด้านซ้าย) ร่วมประชุม 28 เม.ย. 2549 เพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตการเมืองตามกระแสพระราชดำรัส

จรัญยอมรับว่าไม่เคยคิดถึงศาล ในฐานะอำนาจส่วนหนึ่งที่ประกอบขึ้นเป็นอำนาจอธิปไตยมาก่อน ในแวดวงนักกฎหมายไทยมองคล้ายๆ กันว่าศาลเป็นเรื่องของการพิจารณาพิพากษาคดี

ศาลในพระปรมาภิไธย

ถึงวันนี้ จรัญทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมา 9 ปีแล้ว (2551-ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นช่วงที่เขาบอกว่า "หนักใจ" ที่สุด เป็นภารกิจ "ยากที่สุด" หากเทียบกับชีวิตตุลาการที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นคดีที่กระทบถึงข้อพิพาทระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ

"การแพ้ชนะในศาลรัฐธรรมนูญ หมายถึงเดิมพันที่ใหญ่ของแต่ละฝ่าย ดังนั้นแรงกดดันก็จะเข้ามามากทั้งทางด้านบวกและลบ ฝ่ายที่พอใจก็อยากจะเอาดอกไม้มาให้กำลังใจ ฝ่ายที่ไม่พอใจก็ตำหนิติเตียนวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่พวกเรายึดถือกันตลอดมาในการทำหน้าที่ที่นี่คือเราทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์"

เขาจึงไม่สนใจว่าใครจะชัง-ใครจะชอบ หากคำวินิจฉัยตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง เป็นธรรม เป็นหลักให้แก่ประเทศ เป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชน

"แม้ต้องทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้เสียหาย เราก็ไม่อาจเบี่ยงเบนออกไปจากภารกิจหน้าที่นี้ได้" ตุลาการวัย 67 ปีกล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ: รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษชุด "ในหลวง ร.9" ซึ่งบีบีซีไทยนำเสนอต่อเนื่องตลอดเดือน ต.ค. วันพรุ่งนี้ จะเป็นหัวข้อ "เป็น 1 ปี ที่เนิ่นนานนับอนันต์"